วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

ประวัติความเป็นมาพิธีบวงสรวงเจ้าปู่รำภมร บ้านกุดตาใกล้


ชาวบ้านกุดตาใกล้ มีประวัติการตั้งถิ่นฐานมายาวนานกว่า ๒๐๐ ปี ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวภูไท จากการเล่าขานจากบรรพบุรุษ ว่า อพยพมาจากเมืองบกเมืองวัง (ปัจจุบันอยู่ในแขวงสุวรรณเขต ประเทศลาว) ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง แถบเมืองรุ้งนคร ซึ่งเป็นราชธานีในแคว้นโคตรบูรณ์ เมื่อ พ.ศ ๒๓๓๘ โดยถูกกวาดต้อนมาในฐานะเชลยในสมัยรัตนโกสินทร์ (ร.๑ - ร.๒) พร้อมกับกลุ่มภูไท ที่มาตั้งเมืองกุดสิมคุ้มเก่า หรือ อ.เขาวงในปัจจุบัน คนที่มาตั้งบ้านครั้งแรกคือ “นายกวนบ้าน” โดยตั้งบ้านครั้งแรกอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านในปัจจุบัน เรียกว่า คุ้มเก่า ต่อมาเกิดแผ่นดินแยกหมู่บ้านเลยย้ายไปทางทิศตะวันตก เป็นคุ้มบ้านน้อย หรือ หมู่ ๔ ในปัจจุบัน กุดตาใกล้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ หนองน้ำใกล้หมู่บ้าน (หรือกุดแฮ่ในปัจจุบัน) มีสัตว์ขนาดเล็กชื่อ “ไก้” มีรูปร่างเล็กคล้ายกระจง ผู้คนมักล่ามาเป็นอาหาร จนในปัจจุบันสูญพันธุ์ไป หมู่บ้านนี้จึงได้ชื่อว่า “กุดตาไก้”

ต่อมาศูนย์พัฒนาการเคลื่อนที่มาเปลี่ยนชื่อเป็น “กุดตาใกล้” ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕

กุดตาใกล้เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองใหญ่สองเมืองในสมัยก่อนคือเมืองภูแล่นช้าง และเมือง กุดสิมนารายณ์ ซึ่งมีหนองน้ำกุดแฮ่เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างเมืองทั้งสอง ดังนั้นกุดตาใกล้จึงต้องต้อนรับเจ้าเมืองทั้งสองฝั่ง โดยใช้ผ้าทอซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษเป็นเครื่องบรรณาการ จนกระทั่งเจ้าเมืองภูแล่นช้างได้อัญเชิญ “เจ้าปู่ตารำภมร” มาสถิตอยู่ ณ กุดตาใกล้เพื่อให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้าน กุดตาใกล้ จึงขึ้นกับเจ้าเมืองภูแล่นช้างนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปัจจุบันนี้ศาลของปู่ตายังคงสถิตใน “ดอนปู่ตา” ซึ่งเป็นป่าที่ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ไว้ให้คงสภาพเดิม ไม่ให้มีการแผ้วถางและชาวบ้านยังได้จัดงานไหว้ดอนปู่ตาเป็นประจำทุกปี

ทั้งนี้ชาวบ้านกุดตาใกล้ได้กำหนดทำพิธีบวงสรวงไหว้เจ้าปู่รำภมรปีละสองครั้ง ครั้งแรกในช่วงระหว่างเดือนหกก่อนฤดูการทำนา ครั้งที่สองช่วงระหว่างเดือนอ้ายหลังเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นยุ้งฉาง โดยชาวบ้านจะนำไก่ต้มเป็นตัว พร้อมเหล้า ซึ่งเรียกง่ายๆว่า “เหล้าไห ไก่ตัว” พร้อมดอกไม้ ธูป เทียน ไนฝ้าย ( ด้ายผูกแขน ) ครัวเรือนละ ๑ ชุด ไปเป็นเครื่องเซ่นไหว้สักการะ

โดยจะมีผู้นำพิธีซึ่งชาวภูไทเรียกว่า “กว๊านเจ้าจ้ำ” เป็นผู้นำทำพิธี

( ปัจจุบันเป็นนายเขียน คะโยธา )

วัตถุประสงค์ของการบวงสรวงเจ้าปู่รำภมร

ชาวบ้านส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าการเลี้ยงเจ้าปู่รำภมรเพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณเจ้าปู่ที่ปกปักรักษาให้ลูกหลานอยู่ดี กินดี มีความสุข เป็นการบวงสรวงสักการะเจ้าปู่ เป็นขวัญกำลังใจแก่ชาวบ้าน บอกกล่าวให้เจ้าปู่ได้คุ้มครอง ปกปักรักษาให้มีความสุขสบายหายจากภยันตรายทุกสิ่ง

นอกจากนี้ไก่ที่แต่ละครัวเรือนนำมาจะมีการเสี่ยงทายคางไก่ของแต่ละคนซึ่งคำทำนายคางไก่ก็จะมีเช่นถ้าคางไก่ยาวเหมือนเคียวเกี่ยวข้าว น้ำท่าจะบริบูรณ์ข้าวกล้าอุดมสมบูรณ์ดี ครอบครัวจะมีความสุขร่มเย็น เป็นต้น

การเสี่ยงทายคางไก่ของแต่ละครอบครัว

หลังจากเลี้ยงเจ้าปู่ชาวบ้านก็จะนำไก่ส่วนที่เหลือจากการถวายเจ้าปู่ประกอบเป็นอาหารเรียกว่า “ซั่วไก่” แล้วรัปประทานอาหารร่วมกัน นอกจากเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีแก่คนในชุมชน ยังสร้างความผูกพันของสมาชิกในครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย

ชาวบ้าน “ซั่วไก่” และรับประทานอาหารร่วมกันสร้างความผูกพันในครัวเรือน

และความสัมพันธ์ในชุมชน

การเลี้ยงปู่ตา และบวชป่าชุมชน

เดิมพื้นที่ป่าชุมชนบ้านกุดตาใกล้ เป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าชุกชุม เช่น นกกา เก้ง ไก้ ค้างคาว ฯลฯ อาศัยอยู่มากมาย นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายของพันธุ์พืชนานาชนิด เป็นแหล่งอาหาร และยาสมุนไพรพืชบ้านของคนในชุมชน มีพื้นที่ประมาณ ๑๒ ไร่ ต่อมาชุมชนมีการขยายตัว เกิดความต้องการทั้งพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย พื้นที่สำหรับการเกษตร จึงเกิดการลุกล้ำเขตพื้นที่ป่าดอนหอ จนเหลือพื้นที่ในปัจจุบันประมาณ ๗ ไร่ ตลอดจนมีการแผ้วถางทำลายต้นไม้ใหญ่น้อย สำหรับสร้างบ้านเรือน นอกจากนี้สมุนไพรพืชบ้างชนิดได้ถูกทำลาย สัตว์ป่าจำนวนมากสูญพันธุ์ และย้ายที่อยู่

จากภาวะดังกล่าวชาวบ้านได้เกิดความหวงแหนและต้องการอนุรักษ์ป่าผืนนี้ไว้ให้ลูกหลานตลอดจนมุ่งเน้นสร้างความอุดมสมบูรณ์ ความหลากหลายเชิงนิเวศน์ของป่าไว้จึงมีมติร่วมกันที่จะทำพิธีบวชป่า ซึ่งมีมติร่วมกันที่จะไม่ทำลาย รุกล้ำเขตป่าชุมชน รักษาสภาพนิเวศน์ให้มีความสมบูรณ์สืบไป

การบวชป่าของชาวกุดตาใกล้อาศัยความเชื่อและภูมิปัญญาดั้งเดิมโดยได้นิมนต์พระมาเป็นประธานในพิธี สร้างความเชื่อถือศรัทธาแก่ชาวบ้าน และคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมในอันที่จะนำไปสู่การร่วมกันอนุรักษ์ป่าผืนสุดท้ายของชุมชนให้คงอยู่ตราบลูกหลานสืบไป

“การบวชป่าเป็นอานิสงส์เช่นเดียวกับการบวชคนเพราะเป็นการรักษาสรรพชีวิตที่มีในป่าแห่งนี้ให้คงอยู่ รวมทั้งแสดงให้รู้ว่าคนเรามีความกตัญญูรู้คุณป่าไม้ที่สร้างชีวิต รักษาชีวิตของเรา”

พระอธิการวันชัย ธมฺมวโร เจ้าอาวาสวัดกุดตาใกล้

“ป่าชุมชนคือรากเหง้าและศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน ยังมีไม้ในป่าอีกหลายร้อยชนิดที่เราทุกคนต้องเรียนรู้และรักษาให้คงอยู่เฉกเช่นเดียวกับวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของชาวกุดตาใกล้”

นายอำนาจ วิลาศรี ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลสายนาวัง

“ป่าชุมชนไม่ใช่สมบัติของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นของคนทุกคนในชุมชน ดังนั้นหากใครทำลายแผ้วถางบุกรุกก็เหมือนกับทำลายมรดกทางธรรมชาติที่บรรพบุรุษมอบไว้ให้”

นายเมืองมนต์ สุขพันธ์ ผญบ.บ้านกุดตาใกล้ ม.๗

“วันนี้หากเราทุกคนไม่ช่วยกันดูแลรักษา วันข้างหน้าป่านี้หมดไปคงไม่มีคำตอบให้กับลูกหลานว่ามัวทำอะไรอยู่”

นายเจริญ วิลาศรี บ้านกุดตาใกล้ ม.๔

“ไม่รู้ว่าป่านี้มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เกิดมาก็เห็นเป็นป่าเลย อยู่จนถึงวันนี้ได้ ก็อาศัยป่าผืนเล็กๆ

นี้แหล่ะ”

นายเสิก วิลาศรี ชาวบ้านกุดตาใกล้

_________________

สำนักงานวัฒนธรรมอําเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น